แก้ไขล่าสุด คำแพง เมื่อ 7-1-2012 20:58
ช่วงพักยกขอนำเรื่องของ ลป.ฤทธิ์ จากการเขียนของ อ.อำพล เจน อัครมหาศิลปินแห่งอีสาน มาให้สมาชิกทุกท่านอ่านเพื่อให้เกิดศรัทธาปสาทะกับครูบาอาจารย์ผู้ทรงฤทธิ์และอิทธิคุณเป็นที่ประจักษ์กันทั่วไป ขอบขอบพระคุณท่าน อ.อำพล เจน มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ......ด้วยความเคารพอย่างสูงครับ
**********************************************
หลวงพ่อฤทธิ รตนโชโต ผู้สร้างขลังแห่งเมืองขอม เขียนโดย อำพล เจน
วันอังคารที่ 29 กันยายน 2009 เวลา 12:04
คราวก่อนได้กล่าวถึงพระอุปคุตพันฤทธิ์กับปรกบัวชนะสงครามไปด้วยอาการห้วน ๆ และปรารภฉิวเฉียดเพียงแผ่ว ๆ ในองค์หลวงพ่อฤทธิ รตนโชโต ยังไม่ถึงใจ แก้ตัวไว้เสียด้วยว่าเพราะไม่สบาย แต่กำหนดส่งต้นฉบับก็เป็นไฟไหม้ก้น ให้ลุกขึ้นมาทำงาน ตอนนี้สบายดีแล้ว แข็งแรงชนิดที่พร้อมจะท้าไมค์ ไทสัน ชกทุกเวทีในโลก ให้ค่าตัวสักล้านก็พอแบ่งเฮียไมค์ครึ่งหนึ่ง เป็นสินบนให้ต่อย ๆ เบา ๆ หรือเอาแค่เฉียดก็พร้อมจะนอนไกวเปล ใครจะทำไม เมื่อได้ทบทวนข้อเขียนที่แล้วมาเห็นว่ายังค้างหนี้ผู้อ่าน คือค้างภาพพระปรกบัวชนะสงครามที่ถ่ายรูปไม่ทัน หนี้อันนั้นก็เอามาชดใช้เสียในคราวนี้ พระปรกบัวชนะสงคราม คือ พระใบมะขามรุ่นแรกของหลวงพ่อฤทธิ รตนโชโต สร้างขึ้นโดยอาศัยต้นแบบจากพระพิมพ์เนื้อดินปืน ที่เรียกว่าพระวังหน้า วัดชนะสงคราม แต่ช่างผู้แกะแม่พิมพ์ก็แกะจนเกิดรูปแบบใหม่ขึ้นมาอย่างที่เห็น จะเรียกว่าแกะไม่เก่งจนคลาดเคลื่อนต้นแบบไป หรือเรียกว่าแกะเก่งจนเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ก็สุดแต่จะปักใจตกลงฟากไหน ลายดอกบัวที่เลื้อยสายและดอกอยู่เบื้องหลังพระนั่นแหละครับ ที่เป็นเหตุให้ถวายสมญานามว่า พระปรกบัว ถือเป็นเอกลักษณ์ของบัวปรก พระปรกบัวชนะสงครามสร้างพร้อมพระอุปคุตพันฤทธิ์ (พิชิตมาร) ได้รับเมตตาในการเสกอย่างเอาใจใส่จากหลวงพ่อฤทธิ เป็นที่สุด ท่านทำให้จนดูเหมือนหลวงปู่พรหมมาเคยทำให้ นั่นคือท่านให้ยกพระทั้งหมดไปวางไว้บนที่นอนของท่านตั้งแต่วันเริ่มเสก จนกระทั่งถึงวันที่เสกเสร็จ พระก็วางอยู่บนที่นอนของท่านเหมือนเดิม ไม่ถูกเคลื่อนย้ายออกไปไหน นึกถึงสมัยหลวงปู่พรหมมาเสกรูปเหมือน 5 นิ้วรุ่นแรกของท่าน ก็ให้เอาพระทั้งหมดเข้าไวในห้อง ทั้งบนโต๊ะ บนที่นอน ที่นั่ง จึงมีพระวางจนแน่นไปหมด ตัวหลวงปู่เองต้องย้ายออกมานอนนอกห้อง คือหน้าประตู หลวงพ่อฤทธิก็เช่นกันเข้าใจว่าท่านย้ายลงมาจากเตียงมานอนพื้นแทน ทำให้เกิดความซาบซึ้งตรึงใจในเมตตากรุณาอันประมาณมิได้นี้ และทำให้รู้เห็นซึ่งความตั้งอกตั้งใจในการเสกอย่างไม่เสแสร้งแกล้งทำ เกี่ยวกับองค์หลวงพ่อฤทธินี้ เดิมทีผมไม่เคยได้ยินหรือรู้จักชื่อท่านมาก่อน แต่การเดินทางไปนมัสการหลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญบ่อยๆ ทำให้ชื่อของท่านปรากฏขึ้นมา ศิษย์หลวงปู่หงษ์ ทั้งมรรคทายกวัด หรือแม่ชีที่พอจะรู้จักกันแล้วได้ออกปากแก่ผมว่าให้ไปหาหลวงพ่อฤทธิ ท่านเก่งนะ อยู่ไม่ไกลจากวัดเพชรบุรี อยู่แค่นี้เอง ได้ยินแบบนี้ถึง 2 ครั้ง ผมก็ยังไม่ได้ปลูกความกระตือรือร้นขึ้นในจิตใจ หลายเดือนต่อมาพรรคพวกของผมคนหนึ่ง สมมติชื่อว่า “มาลุต” จะได้เดินทางมาจังหวัดสุรินทร์หลายวัน จะแวะกราบหลวงปู่หงษ์ด้วย ผมจึงกล่าวฝากไปว่า ลองแวะไปที่หลวงพ่อฤทธิบ้าง ไปดูท่านหน่อยเถิด คนวัดของหลวงปู่หงษ์บอกหลายทีแล้วผมยังขัดข้องไม่สะดวก คุณช่วยไปแทนที คุณมาลุตก็รับคำ สองวันเท่านั้น คุณมาลุต ก็โทรศัพท์จากสุรินทร์มาละล่ำละลักกับผมว่าหลวงพ่อฤทธิ แน่นอนจริง ๆ ท่านเก่งสมคำของคนวัดหลวงปู่หงษ์ เป็นการพูดโทรศัพท์ที่ไม่ได้เรื่องที่สุด เพราะเรียบเรียงคำพูดไม่ถูก และเพราะตื่นเต้นเกินไป เมื่อคุณมาลุตกลับจากสุรินทร์มาพบกันแล้ว สติสตังค์ค่อยดูเป็นปกติขึ้น จึงได้เรื่องบ้าง ซึ่งก็มีเรื่องอยู่ดังนี้ คุณมาลุตออกจากวัดเพชรบุรีของหลวงปู่หงษ์ไปตามเส้นทางระหว่างหมู่บ้าน อาศัยแผนที่ปาก คือถามไปเรื่อยๆ จนถึงวัดชลประทานราชดำริของหลวงพ่อฤทธิ ซึ่งมีระยะทางห่างกันแค่ 18 กิโลเมตร แต่ว่า 18 กิโลเมตรนี้ คนไม่คุ้นกับทางบ้านนอก มีโอกาสหลงทางง่ายที่สุด คุณมาลุตก็รับว่าถ้าไม่มีปากถามไปแล้วก็เป็นอันหลงทางทั้งขากลับด้วย เมื่อไปถึงวัดแล้วปรากฏว่าหลวงพ่อฤทธิไม่อยู่วัด ท่านรับนิมนต์ไปข้างนอก แม้จะผิดหวังแต่ก็ยังสมหวังไปในตัว เพราะได้ในสิ่งที่ไม่เคยหวังมาก่อน คุณมาลุตได้พบกับหลวงพี่มหาไพโรจน์ ซึ่งได้ให้การต้อนรับและได้ให้ความรู้เกี่ยวกับองค์หลวงพ่อฤทธิ เท่าที่คุณมาลุตสนใจไต่ถามตามสมควร และได้เล่าถึงเหตุการณ์สำคัญอันหนึ่ง คือการทดลองยิงพระเครื่อง 2 องค์ ทหารในจังหวัดบุรีรัมย์ได้ลงมือ ยิงพระ 2 องค์ องค์แรกเป็นพระกริ่งรุ่นบล๊อกแตกของหลวงพ่อรูปหนึ่ง ซึ่งกำลังมีชื่อเสียงเกริกไกร (ขอสงวนนามท่านไว้) กับอีกองค์หนึ่งคือรูปเหมือนรุ่นแรกของหลวงพ่อฤทธิ ผลการยิงปรากฏว่าพระกริ่งรุ่นแรก (รุ่นบล๊อกแตก) กระจุยในนัดเดียว ส่วนรูปเหมือนรุ่นแรกของหลวงพ่อฤทธิไม่ออก 2 นัด คุณมาลุตบอกว่าพระ ราคาเป็นหมื่นพังไปในนัดเดียว แต่พระราคา 300 ไม่ออก 2 นัดจึงทำให้เกิดความสนใจอยากได้ของขลังของหลวงพ่อฤทธิ เต็มกำลัง หลวงพี่มหาไพโรจน์ก็เมตตาแบบหฤโหดแนะนำว่า “เหรียญรุ่นแรกสิดีนัก ลูกศิษย์หลวงพ่อฤทธิ หากันใหญ่ ได้ยินว่าถึงกับเอามอเตอร์ไซด์แลก” เมตตาแนะนำของหลวงพี่ไพโรจน์ ก็เหลือวิสัยสำหรับคนใหม่ที่เพิ่งรู้จักหลวงพ่อฤทธิ จะไปหาที่ไหนเล่าสำหรับเหรียญรุ่นแรก วาสนาหรือพรหมลิขิตอย่างใดอย่างหนึ่งก็แสดงตัวว่าเป็นของมีจริง มีผู้ชี้นำว่าคนที่กำลังทำงานก่อสร้างในวัดคนหนึ่งมีเหรียญรุ่นแรกอยู่ด้วย คุณมาลุตก็ปรี่เข้าไปขอดู มีถึง 2 เหรียญ และแขวนในคอทั้ง 2 เหรียญ
“อยากจะได้ ขอแบ่งเถอะสักเหรียญ จะซื้อเอา จะคิดเท่าไหร่ขอให้บอกมา” คุณมาลุตจู่โจม
“ไม่ได้หรอกครับ หลวงพ่อให้ผมหลายปีแล้ว ท่านบอกให้เก็บไว้ให้ดี อย่าให้ใคร ลูกเมียผม ผมยังไม่ให้เลย” คนทำงานวัดปัดป้อง
คุณมาลุตก็ซึมไป แล้วก็พาลฮึดฮัดกล่าวออกไปว่า
“ผม อยากได้จริง ไม่คิดเอาไปซื้อขายหากำไร ผมกำลังจะไปเมืองนอก ผมกลัวเครื่องบินตก อยากได้หลวงพ่อไปปกปักรักษา ถ้าหากมีวาสนาจะได้ก็ต้องได้” (“ฮึ่มๆ”)
คนทำงานวัดหันมามองแว้บหนึ่งแล้วเมินออกไปทำงานต่อ คุณมาลุตก็มองตามตาละห้อยและในขณะที่ตาละเหี่ยตามมองไปนั้น ปาฏิหาริย์ก็เกิด คนทำงานวัดที่ทุกวันนี้ยังไม่ทราบชื่อ ได้ก้มลงหยิบขดสายไฟฟ้า พวงพระในคอก็หลุดผัวะออกมานอกคอเสื้อ เหรียญองค์หนึ่งดิ้นดุกดิกแล้วหลุดเป๊งลงสู่พื้นดิน คนงานท่านนั้นตกใจรีบคว้าเหรียญกลับขึ้นมา เพ่งพินิจดูที่ห่วงพระแล้วก็จับสร้อยสเตนเลสในคอมาดูห่วงที่แขวน หน้าก็ซีดเผือด เดินต้อย ๆ มาที่คุณมาลุต ส่งเหรียญ ที่หล่นให้แล้วกล่าวเสียงอ่อย ๆ “หลวงพ่อแสดงปาฏิหาริย์ ผมให้พี่ ผมไม่เอาแม้สลึงเดียว พี่เอาไปเถอะ” คงเป็นปาฏิหาริย์จริงๆ ห่วงพระก็ไม่อ้าออก ห่วงสร้อยก็ไม่ชำรุด แต่พระหลุดออกมาได้อย่างไร ถึงแม้จะปาฏิหาริย์อย่างไร เมื่อผมได้ยินเรื่องเล่านี้ ผมก็ร้องยี้ หนังอินเดียหรอกนะ คุณมาลุตก็อ้างพยานรู้เห็นเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา ซึ่งล้วนเป็นลูกหลานที่ติดตามคุณมาลุตไปจนเหตุการณ์ในครั้งนั้น ซึ่งทุกคนก็ยืนยันว่าที่คุณมาลุตเล่านี้เป็นจริงทุกอย่าง
ผมเลยซึมไปบ้าง หลังจากนั้น วัดชลประทานราชดำริก็เป็นอีกแห่งที่ผมจะไปทุกครั้งที่มีเวลาว่าง ไปกราบหลวงพ่อฤทธิที่วัด และยังกลับมากราบที่บ้านตลอดมา และเก็บท่านเงียบไว้ไม่บอกผู้อ่านมาแสนนาน จนกระทั่งถึงวันนี้ กิตติคุณ ทางขลังของท่าน ผมยังไม่เห็นว่าท่านจะเป็นรองใครในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องเมตตามหานิยม ที่ท่านแจกในหมู่คณะของผมทุกคน ใครสงสัยว่าจริงหรือไม่จริง ให้ถามคุณอภิรักษ์ จุฬาศินนท์ ได้ หรือใครที่อยู่กรุงเทพให้แวะเข้าวัดดอน ยานนาวา ถามหาหลวงพี่ไพโรจน์ ที่มาจากวัดชลประทานราชดำริ จังหวัดบุรีรัมย์ ก็จะได้ฟังเรื่องพิสดารของหลวงพ่อฤทธิ ตามต้องการ ในส่วนของผมของดเว้นไว้ไม่กล่าวถึง กลัวจะเป็นผู้สร้างหนังอินเดียเสียเอง จะไปกราบท่านด้วยตัวเองก็ทำได้ไม่ยากนะครับ วัดของท่านอยู่ริมอ่างเก็บน้ำชลประทานบ้านกระนัง อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ อยู่ระหว่างเส้นทางกระสัง – ประโคนชัย ถ้าไปจากจังหวัดสุรินทร์ก็ใกล้ดี แต่ถ้ามาจากจังหวัดบุรีรัมย์ก็ไกลหน่อย หรือจะเริ่มจากวัดเพชรบุรีของหลวงพ่อหงษ์ก็ใกล้ที่สุด ไปกราบท่านเสียเถิดครับ ท่านใจดี (แต่หน้าดุ) หลวงพ่อฤทธิ กับหลวงปู่หงษ์ ท่านเป็นพระรุ่นเดียวกัน บวชที่วัดเพชรบุรีเหมือนกัน มีอุปัชฌาย์อาจารย์เดียวกัน แต่พอเป็นพระแล้วหลวงปู่หงษ์ธุดงค์ไปทาง หลวงพ่อฤทธิ ก็ไปทาง
ทุกวันนี้ทั้งสองท่านยังไปมาหาสู่กันมิได้ขาด โดยมากหลวงปู่หงษ์จะเป็นฝ่ายมาเยี่ยมมากกว่า นัยว่ามาแลกเปลี่ยนวิชาอาคมกัน เกี่ยวกับหลวงพ่อฤทธินี้ ยังมีเรื่องที่จะหาโอกาสเล่าสู่กันฟังอีกมากในกาลข้างหน้า สำหรับกาลครั้งนี้เห็นจะเพลาลงก่อน คงมีเรื่องที่ต้องบอกต่อไปเพียงเรื่องเดียวคือ เรื่องพระเครื่องของท่านที่ยังพอจะหาได้ในวัดคือ รูปเหมือนรุ่นแรก (เข้าใจว่าจะสร้างออกมาเรื่อยๆ เหมือนหลวงพ่อแช่มวัดดอนยายหอม) แล้วก็ทีเด็ดสุดคือตะกรุดคาดเอวให้ไปเอาไว้ซะ ตอนที่ผมได้ตะกรุดคาด เอวเส้นแรกจากท่าน ได้กราบเรียนถามวิธีอาราธนาต่าง ๆ จนได้ความว่าตะกรุดท่านไม่มีข้อห้ามสิ่งใด คือไม่ถืออะไร เวลาไปหาสตรีให้กดข้างซ้าย ไปหาบุรุษให้กดข้างขวา ไปหาผู้ใหญ่หรือไปหาเงินหาทองกดข้างหน้า “เวลามีอันตรายล่ะครับ” ผมถาม “ไม่มีอันตราย” ท่านตอบห้วน ๆ นี่นับเป็นอหังการ์อีกสำนักหนึ่งในบรรดาครูบาอาจารย์ผู้สร้างขลังที่เลื่องลืออยู่จนทุกวันนี้ก็คือเรื่องลงของ ซึ่งผมยังไม่เคยลงและยังไม่ได้สอบถามรายบละเอียดว่าลงอย่างไร รู้จักแต่ว่าท่านเคยไปลงให้ศิษย์ที่สุพรรณบุรี และระบือขลังอยู่ที่นั่นไม่น้อย เมื่อลงของให้ใครแล้วท่านจะจามด้วยมีดดาบเสียปึกหนึ่ง เสื้อแสงก็คงไม่มีชิ้นดี แต่ขอให้มั่นใจว่าหนังดีเป็นพอ เคยมีนาย อำเภอ (เข้าใจว่าจะเป็นนายอำเภอกระสังคนหนึ่งในอดีต) มาลงของกับท่าน พอหันหลังให้ ท่านฟันฉับถึงแอ่นไป หลวงพี่ไพโรจน์ตกใจ เข้าไปกระซิบท่าน “หลวงพ่อ ๆ นั่นน่ะนายอำเภอเชียวนะ” “กูจะไปรู้เรอะว่านายอำเภอ” หลวงพ่ออุทาน สมัยหลังนี้ท่านไม่ค่อยจะลงของให้ใคร ผมเคยกราบเรียนท่านว่าเรื่องลงของเดี๋ยวนี้ทำไมเงียบ ๆ ท่านตอบว่า “หลวงพ่อชักแก่ชักเฒ่า หูตาไม่ดีเหมือนก่อน กลัวลงอักขระตกหล่น แล้วมันจะเข้าหนัง” นี่สิครับคือความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ของผู้ที่จะมาเป็นครูบาอาจารย์คน ท่านมิได้ประมาทจนลืมตัวว่าตนเองพลาดไม่เป็น ผมจึงกราบท่านได้สนิทใจอยู่ทุกวันนี้ นี่ก็เป็นพระขลังอีกรูปหนึ่ง ที่ผมเชื่อใจ เหมือนเคยกล่าวคำเชื่อใจในองค์หลวงปู่พรหมมา อันเป็นที่สุดองค์นั้น คงต้องบอกไว้ตรงนี้ว่า ชานหมากถุงใหญ่ กับเกศากระปุกโตของหลวงพ่อฤทธิ ที่ผมได้รับมอบจากท่านมานานเดือน กำลังจะกลายเป็นรูปเหมือนเนื้อชานหมากผสมว่านในไม่ช้านี้ ถ้าไม่มีใครชิงทำก่อน ก็จะถือเป็นการทำรูปเหมือนลอยองค์เนื้อผงครั้งแรกของท่าน ถ้ามีใครทำก่อนก็ยอมเป็นรุ่น 2 (ที่ผมเอามาลงกระทู้ให้สมาชิกบูชาอยู่ 1 องค์) ไม่ว่าจะเป็นรุ่นไหน รุ่นอะไร ทั้งหมดที่จะทำถวายท่านนี้ก็เพื่อสนับสนุนการสร้างวิหารศาลาของวัดชลประทานราชดำริจะได้เป็นอิฐทรายหรือกรวดอีกก้อนอีกกำในวิหารนั้นเพื่อท่านและเพื่อวัดของท่านอย่างตั้งอกตั้งใจ
แต่วินาทีนี้ถึงจะได้ทำพระอุปคุตให้ท่านได้เสกเป็นครั้งแรก พระอุปคุตก็ยังไม่ถือเป็นของท่านโดยตรง เพราะมีหลวงปู่คำพันธ์ร่วมเสกด้วย แต่พระปรกบัวชนะสงครามได้ถวายให้เป็นของท่านอย่างแท้จริงแล้ว ทั้งพระอุปคุตพันฤทธิ (มาจากนามคำพันธ์ + ฤทธิ) กับพระปรกบัวก็สำเร็จแล้วทุกประการและเปิดให้ผู้มีศรัทธาบูชากันได้ ทั้งที่วัดชลประทานราชดำริหรือทางไปรษณีย์ (มีรายละเอียดทุก ๆ อย่างในฉบับที่แล้ว) เฉพาะพระอุปคุตนั้น ผมเห็นว่าเป็นพระส่วนกลางของทั้ง 2 ท่านได้เต็มภูมิ เพราะทั้ง 2 องค์หลวงปู่หลวงพ่อก็ได้แสดงความรู้สึกชอบใจในรูปแบบพระอุปคุตเหมือนๆกัน ยังความปลื้มใจให้แก่ผู้ออกแบบและผู้สร้างอย่างที่หุบยิ้มไม่ลง ถึงเวลานี้พระอุปคุตน่าจะหมดไปแล้ว เพราะว่ามีเหลือให้จำหน่ายน้อยมาก เพียงอย่างละ 100 กว่าองค์ (เนื้อโลหะกับเนื้อผงว่าน) ส่วนพระปรกบัวชนะสงคราม เชื่อว่ายังมีเหลืออยู่ที่ต้องคาดคะเนอย่างนี้ ก็เพราะว่าได้เขียนต้นฉบับในขณะที่หนังสือฉบับที่แล้วยังไม่ออกจำหน่าย ใคร ผิดหวังจากพระอุปคุตพันฤทธิ ก็ทำใจรอรูปเหมือนเนื้อชานหมากผสมว่าน 108 ในโอกาสต่อไปก็แล้วกัน หรือจะเก็บพระปรกบัวชนะสงครามไว้ก่อนก็สุดแต่ใจ คงต้องบอกอีกว่า นี่พระใหม่ ไม่ใช่พระเก่า ใครถือแต่พระเก่าไม่เอาพระใหม่ก็ไม่ต้องสนใจ ให้นักเล่นพระมือใหม่เขาหัดเล่นกันเถิด
.....................................................
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศักดิ์สิทธิ์ฉบับที่ 306
วันที่ 1 กันยายน 2538 |